ความต่างของ REC กับ Carbon Credit คืออะไร?

clock
24 June 2022

เมื่อพูดถึงการซื้อเครดิตทางสิ่งแวดล้อม เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เราสร้าง ทั้งในฐานะที่เราเป็นองค์กรหรือบุคคล หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ Carbon Credit กันมาบ้าง แต่ทราบไหมว่า ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate) หรือที่เรียกว่า REC นั้นก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

แล้วความต่างของ Carbon Credit กับ Renewable Energy Certificate (REC) คืออะไร?

Carbon Credit เกิดจากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHG) ไม่ว่าจะเป็นการดูดออกจากชั้นบรรยากาศ เช่น ปลูกป่า ใช้เครื่องดักจับคาร์บอน หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าเส้นฐาน (Baseline Emission) ที่องค์กรเราจะปล่อยได้หากดำเนินการตามปกติโดยไม่มีความพยายามในการลด (Business As Usual) ตัวอย่างการลดให้ต่ำกว่าเส้นฐาน เช่น เปลี่ยนเครื่องจักรให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง เปลี่ยนยานพาหนะที่ใช้น้ำมันไปใช้ไฟฟ้าแทน ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่านั้น จะสามารถยื่นขอกับหน่วยงานที่ให้การรับรองได้ 1 Carbon Credit

ในขณะที่ 1 REC เป็นใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด 1 MWh เช่น ไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลม โซลาร์เซลล์ เขื่อน เป็นต้น การขาย REC แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ Bundled กับ Unbundled REC โดยแบบ Bundled REC นั้นผู้ซื้อจะได้รับไฟฟ้าพลังงานสะอาดหรือก็คือไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) พร้อมกับ REC ที่ผู้ผลิตขอออกใบรับรองจากการผลิตไฟฟ้านั้นด้วย แต่หากซื้อ Unbundled REC ก็จะได้รับเพียง REC ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยจะมีเพียงแบบหลังเท่านั้น

ก่อนอื่นเราต้องรู้จักว่าการนับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ GHG Emission มีวิธีนับอย่างไร?

การนับ Scope 1,2,3 เกิดขึ้นในปี 2001 โดย GHG Protocol ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะมาตรฐานการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นที่นิยมใช้มากที่สุดในโลก เพื่อให้องค์กรสามารถจำแนกและจัดการ GHG Emission ของตนได้ง่ายขึ้น หากสมมติว่าเราเป็นเจ้าของโรงงานผลิตปลากระป๋อง จะสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้

  • Scope 1: การปล่อยทางตรง จากการเป็นเจ้าของหรือควบคุมโดยองค์กรเอง เช่น กระบวนการผลิตปลากระป๋อง อาจมีเครื่องจักร หรือรถโฟล์คลิฟท์ขนส่งภายในที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
  • Scope 2: การปล่อยทางอ้อม จากการที่องค์กรซื้อพลังงานมาใช้ อันได้แก่ ไฟฟ้า, ไอน้ำ, ความร้อน, และความเย็น ในโรงงานของเราต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องจักร เปิดไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ
  • Scope 3: การปล่อยทางอ้อม จากห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ขององค์กร หรือก็คือกิจกรรมการปล่อยที่เกิดนอกรั้วขององค์กร เช่น โรงงานปลากระป๋องของเราสั่งซื้อปลาจากผู้ผลิตภายนอก การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดขึ้นตั้งแต่เรือประมงที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลออกหาปลา นำปลาที่จับได้เข้าห้องแช่แข็งซึ่งอาจมีการรั่วไหลของสารทำความเย็น ขนส่งวัตถุดิบมายังโรงงานโดยเรือหรือรถ หรือกระทั่งการเดินทางของพนักงานมายังโรงงาน
Scope 1, 2, and 3 ภาพจาก GHG Protocol

แล้วการนำไปชดเชยต่างกันอย่างไร?

การจะเลือกซื้อระหว่าง Carbon Credit หรือ REC เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรนั้น ขึ้นอยู่กับเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร

หากต้องการเป็น Carbon Neutrality องค์กรควรพิจารณาซื้อ Carbon Credit ซึ่งสามารถนำมาชดเชยการปล่อยก๊าซฯใน Scope ใดก็ได้

หากต้องการบรรลุเป้าหมาย RE100 องค์กรควรพิจารณาซื้อ REC เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซฯทางอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงาน ทั้งนี้การจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซฯตาม Scope 1, 2 , 3 นั้น องค์กรไม่สามารถนำ REC มาลดการปล่อยก๊าซฯตาม Scope 2 ได้โดยตรง

แต่การซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด (RE) จะทำให้การปล่อยก๊าซฯใน Scope 2 ไม่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก

ภาพแสดงการบันทึกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกันระหว่างไม่ใช้ กับ ใช้ ไฟฟ้าพลังงานสะอาด

การซื้อ Carbon Credit ถึงแม้จะสามารถชดเชยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากยังคงถูกปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์อยู่เรื่อยๆ และสะสมอยู่บนชั้นบรรยากาศได้นานกว่า 200 ปี  ทางแก้ที่ตรงจุดคือลดการปล่อยฯตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะด้วยการใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์และเครื่องจักร และเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ ถึงจะเป็นการเกาให้ถูกที่คัน

Tags:#ClimateFintech

Author
Writer: Nick Kanakakorn

CEO ของ Blockfint ซึ่งเคยทำงานร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งใน Silicon Valley มานานกว่า 20 ปี


Interested to be our partner?
Mailbox