ก้าวครั้งต่อไปสู่โลก Metaverse

clock
14 December 2021

หลังจากที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) CEO ของ Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta คำว่า ‘Metaverse’ ก็กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง

Metaverse คืออะไร ?

Metaverse คือแนวคิดในการสร้าง “ชุมชนโลกเสมือนจริง” ที่ผสานสภาพแวดล้อมบนโลกความจริงเข้ากับโลกของเทคโนโลยี ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ ผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ทางไกล หรือทำกิจกรรมร่วมกันได้ เช่น ประชุมทางไกล ดูคอนเสิร์ต ออกกำลังกาย เหมือนเรากำลังอยู่ในสถานที่นั้น แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงเรากำลังทำกิจกรรมในคนละสถานที่

โลก Metaverse เคยถูกนำไปใช้อย่างในภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One ที่มีการเข้าไปเล่นเกม ซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของ ในสถานที่ต่าง ๆ  ทำให้เราเริ่มเห็นภาพจินตนาการของ Metaverse ได้ชัดเจนขึ้น

เราผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง ก่อนเข้าสู่โลก Metaverse

รูปแบบการปฏิสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ตู้เกมบนห้างสรรพสินค้าอย่าง เกมชู๊ตบาส การที่เราจะเล่นเราจำเป็นต้องสัมผัสลูกบาส ออกแรงและคำนวนองศาการโยนลูกบาส ให้เข้าห่วงเพื่อให้ได้คะแนน ทั้งหมดนี้จะอ้างอิงกับประสบการณ์การของการเล่นบาสของผู้เล่นจริง ๆ

ต่อมารูปแบบของเกมก็ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยใช้คอนโทรลเลอร์ในการป้อนคำสั่งให้กับตัวละครเราคงคุ้นเคยกับสูตรการกด “ขึ้น ลง ขึ้น ลง ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา เอ บี” เพื่อใช้ในการโกงเกม หรือศิลปินที่กำลังวาดภาพดิจิทัลผ่านทางคีย์บอร์ดและเมาส์ อุปกรณ์ที่ใช้ออกคำสั่งกับการแสดงผลถูกแยกออกจากกัน

หลังจากหน้าจอทัชสกรีน (touch screen) เริ่มเป็นที่นิยม ปุ่มกดที่เป็นกายภาพก็เปลี่ยนไปเป็นเป็นการ “แตะ” หรือ “ลาก” บนหน้าจอ ยกตัวอย่างเกม fruit ninja ที่จำลองนิ้วมือเราเป็นเหมือนมีดที่ใช้ตัดผลไม้ หรือ ศิลปินสามารถวาดภาพลงบนหน้าจอได้ เหมือนกับการวาดในกระดาษ

ภาพจาก Beat Saber

ในปัจจุบันเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับพวกเราในการจำลองโลกเสมือนผ่านการแสดงภาพผ่านอุปกรณ์ที่เป็นแว่นตา เพื่อแสดงสภาพแวดล้อม 360 องศา เราสามารถควบคุมการมองเห็นได้ผ่านการขยับมุมมองของเราเช่นเเดียวกับชีวิตจริง ซึ่งต่างจากเดิมที่เราเห็นการแสดงภาพผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม เกมอย่าง Beat Saber เราจะต้องสวมแว่นตา VR เพื่อให้เห็นการแสดงผลของสภาพแวดล้อมได้ 360 องศา ในโลกเสมือน พร้อมกับถืออุปกรณ์ควบคุม การเล่นเกมจำเป็นจะต้องขยับร่างกายจริง ๆ เพื่อออกคำสั่งภาพในเกม เช่น การฟันกล่อง เราจะต้องถืออุปกรณ์และทำการฟันบนโลกความจริง

ภาพจาก Ikea

เช่นเดียวกับ AR (Augmented Reality) ที่ผสมผสานสภาพแวดล้อมจริง กับ วัตถุเสมือน เข้าด้วยกันในเวลาเดียวกัน ผ่านอุปกรณ์อย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ตัวอย่างเช่น แอป Ikea ที่ใช้เทคโนโลยี AR ในการจำลองวัตถุเสมือนวางบนโลกความเป็นจริง เพื่อช่วยในการจัดแต่งบ้าน ทำให้เราสามารถตัดสินใจในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้านได้ง่ายขึ้น

" เทคโนโลยีที่ดีขึ้นสามารถสร้างประสบการณ์ที่สมจริงขึ้น                                      และก้าวต่อไปคือการผสานโลกความจริงเข้ากับโลกของเทคโนโลยี "

ในอนาคต Metaverse จะกลายเป็นโลกเสมือนจริงที่ผสานสภาพแวดล้อม วัตถุ และประสบการณ์เสมือนจริงเข้ากับโลกจริงเข้าด้วยกัน กิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น การเล่นเกม การเรียน การทำงาน หรือการซื้อขายแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ใน Metaverse นั้นต่างไปจากการแชตหรือวีดีโอคอลในทุกวันนี้ เราไม่ได้แค่พูดคุยหรือโต้ตอบกับเพื่อน แต่เรายังสามารถสัมผัสได้ถึงน้ำเสียงและอากัปกิริยาเหมือนในชีวิตจริง โดยไม่ผ่านหน้าจอเหลี่ยมอีกต่อไป

องค์ประกอบแต่ละส่วนของ Metaverse

ภาพจาก Meta

Display

อย่างแรกเลยที่จะนึกถึงคือการเปลี่ยน ‘ภาพ’ จากเดิมที่เป็น 2 มิติ เป็น 3 มิติ พร้อมกับสภาพแวดล้อมแบบ 360 องศา เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกเหมือนอยู่ในโลกจริงมากที่สุด นอกจากนี้ดีไซเนอร์อาจจะต้องคำนึงถึงรายละเอียดอื่นๆ เช่น แสงเงา พื้นผิวของวัตถุ การเคลื่อนไหวเป็นต้น

ภาพจาก Apple

Audio

เสียงในรูปแบบของ เสียง 3 มิติ คือการออกแบบเสียงให้ผู้ใช้รู้สึกถึงทิศทาง และระยะทางที่มาของเสียงนั้น ลองนึกถึงเสียงที่คุณได้ยินจากข้างหน้า ข้างหลัง ข้างบน ระยะทางของเสียงใกล้ไกล และยังต้องมอบประสบการณ์ที่สมจริง เพื่อให้ผู้ใช้เชื่อว่าตัวเองกำลังอยู่ในในสภาพแวดล้อมนั้นจริงๆ เช่น เสียงรบกวน (noise) ตอนเราอยู่ในที่สาธารณะ  เสียงฝีเท้าตอนเราเดิน


Haptics

Haptics คือ ความรู้สึกตอนเราสัมผัสกับวัตถุ Haptics จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เรามีความรู้สึกตอนสัมผัสกับวัตถุเสมือนให้เหมือนกับทางกายภาพ ซึ่งจริงๆเราคุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้กันอยู่แล้ว เช่น เวลาเรากดแป้นพิมพ์ในสมาร์ทโฟนแล้วมีการสั่น เพื่อเลียนแบบความรู้สึกเวลาเรากดปุ่มหรือคีย์บอร์ดจริงๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้ haptics เทคโนโลยีในการรับและส่ง feedback ผ่านการสัมผัสกับผู้ใช้ เพื่อสื่อสารกับผู้ใช้อีกด้วย เช่น โทรศัพท์สั่นเวลาเราได้รับข้อความจากเพื่อน

Haptics ใน Metaverse เป็นอะไรที่มากกว่าการสั่น ต้องมีทั้งแรงกด แรงต้าน เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกถึงการสัมผัสของตรงหน้าจริงๆ ปัจจุบันมีหลายบริษัทกำลังคิดค้นเทคโนโลยีตัวนี้อยู่ และมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมา เช่น Haptics Glove จาก Meta

ภาพจาก Meta

Mixed Reality

การซ้อนกันระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือน โดยการผสานเทคโนโลยี VR และ AR เข้าด้วยกันเราอาจจะได้เห็น การลองสวมเสื้อผ้าผ่านแว่น VR การปรับแต่งร่างกายตัวเองเป็น “อวตาร” ในจินตนาการ รวมไปถึงทางการแพทย์ที่สามารถช่วยในการฝึกซ้อมผ่าตัดเสมือนจริง ในการผ่าตัดที่ซับซ้อน

Metaverse ที่กำลังจะเกิดนี้อาจนำไปสู่การทลายกำแพงข้อจำกัดในโลกแห่งความเป็นจริงที่เกิดจากข้อจำกัดทางพื้นที่และเวลา เราคงต้องเฝ้าติดตามดูกันต่อไปว่าประสบการณ์ในกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปในอนาคตอย่างไร


ติดตามบทความเกี่ยวกับการวิจัยและออกแบบได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/unblockdesign
Instagram : https://www.instagram.com/unblockdesign

Tags:#Product Design #Technology #User Experience #User Interface #Interaction Design #Metaverse

Author
Writer: Unblock Design

ทีมออกแบบของ Blockfint ที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจัย วางแผน และออกแบบ Digital Products


Interested to be our partner?
Mailbox