Low Fidelity & High Fidelity Prototype แตกต่างและสำคัญอย่างไร

clock
04 February 2022

Prototype คืออะไร?

Prototype คือตัวกลางที่จับต้องได้ซึ่งนักออกแบบใช้ในการสื่อสารกับ “ผู้ใช้” ในกระบวนการทดสอบและวัดผลว่างานออกแบบนั้น ๆ มีประสิทธิภาพหรือไม่ ในมุมมองของนักออกแบบ UX/UI จะเน้นไปที่ Prototypeในรูปแบบ Graphical Interface เป็นหลัก

นิยมแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ตามระดับความคล้ายคลึง

  • Low fidelity prototype
  • High fidelity prototype

การทำ Prototype ช่วยลดโอกาสเกิดความผิดพลาดในงานออกแบบ เป็นการตรวจสอบเพื่อหาข้อผิดพลาดและทดสอบการใช้งานก่อนที่จะนำไปเผยแพร่

Low Fidelity Prototype

คือ  รูปแบบของ Prototype ขั้นพื้นฐาน คล้ายกับโครงร่างของงานออกแบบ นิยมใช้เพื่อวัดผลในขั้นตอนแรกของงานออกแบบ ก่อนนำไปพัฒนาต่อ

ตัวอย่างเช่น Prototype ประเภทกระดาษ หรือ การออกแบบ Wireframe บนโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Figma หรือ Sketch เป็นต้น

Low Fidelity Prototype (ที่มาภาพ : www.wordpress.com/)

สิ่งที่สามารถวัดผลได้จาก Prototype ประเภทนี้คือความเหมาะสมของตำแหน่งองค์ประกอบ , ขนาดขององค์ประกอบ ทั้งภาพ ปุ่ม ไปจนถึงตัวอักษร ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดที่ถูกสร้างขึ้น

ข้อดี

  • ใช้เวลาและงบประมาณในการทำน้อย

จึงนิยมใช้ในการทดสอบการใช้งานพื้นฐาน เช่น ตำแหน่งของปุ่มกด ขนาดของหน้าจอ เป็นต้น

ข้อควรระวัง

  • ผู้ใช้พยายามทำความเข้าใจว่านี่คืองานออกแบบที่ “ยังไม่เสร็จ” ดังนั้นพวกเค้าจะไม่คาดหวังอะไรมาก ทำให้นักออกแบบอาจเข้าใจไปเองว่า ดีไซน์ที่เป็นอยู่นี้ดีแล้ว สามารถนำไปผลิตเป็นผลงานจริงได้แล้ว
  • มีความเที่ยงตรงน้อยกว่า

ทำให้นักออกแบบอาจได้ผลลัพธ์ในการทดลองที่คลาดเคลื่อน หากจะใช้ Prototype ประเภทนี้ต้องมั่นใจว่าผู้ใช้มีความเข้าใจเป้าหมายของการทดลองจริง ๆ

High Fidelity Prototype

High Fidelity Prototype คือ  รูปแบบของ Prototype ที่มีฟังก์ชัน และการโต้ตอบ มีความคล้ายคลึงกับงาน Final ซึ่ง High fidelity Prototype นี้ มักถูกใช้ในขั้นตอนของการทดสอบก่อนการใช้งานจริง เพื่อระบุปัญหาย่อย ๆ ใน Work flow
เช่น Digital Prototype หรืองานออกแบบที่ทำใน Software ที่มีความสมจริง สามารถทดสอบ User Interaction ได้

High Fidelity Prototype (ที่มาภาพ : www.prototypr.io)

ข้อดี

  • คล้ายกับงานออกแบบจริง ทั้งขนาด หน้าตา ตำแหน่งขององค์ประกอบ
  • มีความเที่ยงตรงสูง

สามารถให้เวลาผู้ใช้ในการทดลองใช้ระบบได้อย่างเต็มที่ได้ นักออกแบบสามารถจดจ่อกับการสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้จากการใช้งานจริงได้อย่างเต็มที่ เพื่อค้นหาดีไซน์ที่เหมาะสมที่สุดได้

สิ่งที่สามารถวัดผลได้ : เหมือนกับแบบ Low Fidelity แต่มีความแม่นยำกว่า และสามารถวัดผลเกี่ยวกับความรวดเร็วในการใช้งาน ไปจนถึงการออกแบบ Interaction Design ได้

ข้อควรระวัง

  • เกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย

เนื่องจากมีความสมจริงและระบบมความซับซ้อน และอาจส่งผลให้ผลลัพย์ของการทดลองคลาดเคลื่อนได้ เช่นการทำ Clickable Prototype และระบบเกิดปัญหาโหลดนานเกินไป เป็นต้น แต่ก็สามารถลดข้อผิดพลาดเหล่านี้ได้ โดยการทดสอบ Prototype ก่อนนำไปใช้ในการทดลองจริง

ต้องใช้เวลาและงบประมาณในการเตรียมระบบมากขึ้น เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือและทรัพยากรบุคคลเพิ่มขึ้น เพื่อให้ Prototype มีความเหมือนจริง (โดยทั่วไปนิยมทำเป็น Beta version โดยทีม Developer หรือสร้างขึ้นผ่านโปรแกรม Proto.io โดยดีไซน์เนอร์)

เลือกใช้อะไรเมื่อไหร่ดี

เมื่อคุณเริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์หรือคุณสมบัติใหม่ ขั้นตอนการสร้าง Prototype เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เนื่องจากต้นแบบที่ดีจะช่วยให้คุณสามารถทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนลงทุนเพื่อสร้างแนวคิดดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง แต่ไม่มีโครงการใดมีเวลาและงบประมาณที่ไม่จำกัด งบประมาณและเวลาจึงเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ

นอกจากนั้น ในฐานะนักออกแบบ คุณจะต้องเผชิญกับการตัดสินใจเลือก Prototype ว่าคุณควรเริ่มต้นด้วย High Fidelity Prototype หรือ Low Fidelity Prototype ซึ่งวิธีการเลือกนั้นไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว แนะนำให้พิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการทดสอบที่จะเกิดขึ้น และพิจารณาจากทรัพยากรที่มีด้วย ว่าต้องใช้ความพยายามมากเพียงใดในการสร้างการตอบสนองสำหรับการกระทำของผู้ใช้แต่ละครั้ง เช่น การทดสอบความเร็วในการกด การทดสอบท่าทางในการเลื่อนหน้าจอ การทำ High Fidelity Prototype ก็อาจตอบโจทย์กว่า  หากพิจารณาปัจจัยเหล่านี้แล้ว ก็จะสามารถเลือกประเภทของ Prototype ได้อย่างเหมาะสม

Conclusion

ไม่ว่าจะเลือกทดสอบด้วย Prototype แบบใด ก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือช่วยทำให้นักออกแบบ รับรู้จุดด้อยของงานออกแบบนั้น ๆ เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงดีไซน์ให้ดีขึ้นต่อไปได้

การใช้ Prototype ที่มีระดับความคล้ายคลึงสูงหรือต่ำ ต้องคำนึงจากจุดประสงค์ในการวัดผล สิ่งที่ต้องการวัดผล รวมถึงงบประมาณและเวลาที่มีประกอบกันไป เพื่อให้ได้การวัดผลที่แม่นยำ และไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร ซึ่ง Prototype แต่ละ Level ส่งผลต่อผลลัพธ์ของงานวิจัยที่แตกต่างกัน (อ่านต่อได้ที่นี่)

และถึงแม้ High Fidelity Prototype จะใช้เวลา และ ทรัพยากรสูงกว่า แต่ในปัจจุบันมีเครื่องมือช่วยสร้าง Prototype  เช่น โปรแกรม Proto.io ที่นักออกแบบสามารถ ดีไซน์ High Fidelity Prototype ด้วยตัวเองได้ ประหยัด รวดเร็ว และสามารถนำไปใช้ทดสอบได้อย่างแม่นยำ

Tags:#Product Design #UX Research #User Experience

Author
Writer: Unblock Design

ทีมออกแบบของ Blockfint ที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจัย วางแผน และออกแบบ Digital Products


สนใจร่วมธุรกิจกับเรา?
Mailbox