ปัจจัยในการทำวิจัยด้านการออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพ

clock
31 January 2022

เป็นที่ปฎิเสธไม่ได้ว่าการวิจัยด้านการออกแบบนั้นส่งผลต่อความสำเร็จของนวัตกรรมเชิงธุรกิจ (Business Innovation) เป็นอย่างมาก ถึงอย่างไรก็ตามนั้นแนวทางการทำธุรกิจด้านนวัตกรรมส่วนมากในปัจจุบันกลับมองข้ามการวิจัยกันบ่อยครั้งด้วยเหตุผลหลายปัจจัย เช่น การวิจัยที่ดีมักใช้เวลาและทรัพยากรสูง ผลลัพธ์การวิจัยโดยส่วนมากมักไม่สามารถนำมาประยุกต์แก้ไขปัญหาได้ทันที ฯลฯ

ด้วยเหตุดังกล่าว การวิจัยจึงถูกนำมาปรับใช้งานอย่างไม่ครอบคุลมและไม่มีประสิทธิภาพ ในบทความนี้จึงวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำวิจัยด้านออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพ

บทวิเคราะห์

หลายครั้งในปัจจุบันมักพบว่านวัตกรรมส่วนมากที่ถูกพัฒนาขึ้นมาผ่านกระบวนการและวิธีการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ กลับพบว่า นวัตกรรมเหล่านั้นไม่สามารถดึงผู้ใช้งานเข้ามาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ไม่สามารถทำให้ผู้ใช้กลับมาใช้งานบ่อยครั้งจนเปลี่ยนกลายเป็นลูกค้าประจำได้ โดยพื้นฐานแล้ว ปัญหาดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัยรวมไปถึงด้านการทำวิจัยด้านการออกแบบ เนื่องจากการทำวิจัยด้านการออกแบบอย่างไม่มีประสิทธิภาพจะส่งผลให้ไม่สามารถนำผลลัพธ์การวิจัยไปประยุกต์ใช้งานได้ในบริบทจริง และไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์ใด ๆ ต่อธุรกิจได้

ตัวอย่างเช่น ปัจจัยด้านนวัตกรรมดังกล่าวถูกออกแบบขึ้นมาอย่างไม่มีสิทธิภาพ จึงทำให้ระบบใช้งานยาก โดยปัจจัยนี้หากมีการประยุกต์การทำวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ จะบ่งบอกและแสดงถึงความยากง่ายของระบบได้ก่อนนำไปพัฒนาในลำดับถัดมา หากระบบดังกล่าวยังไม่สามารถแสดงถึงคุณภาพของการใช้งานที่ง่ายได้ก่อนนำไปพัฒนา ดังนี้ ก็จะสามารถนำไปแก้ไขการออกแบบอีกครั้งก่อนนำไปพัฒนาตามลำดับ

จากกรณีศึกษาหนึ่ง นวัตกรรมระบบบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงานของบุคลลากรภายในบริษัท ระบบดังกล่าวได้ถูกออกแบบขึ้นผ่านกระบวนการการออกแบบตามลำดับขั้นตอนอย่างเหมาะสม ตั้งแต่การเก็บรวบรวมความต้องการของผู้ใช้ สร้างสรรค์คุณสมบัติ (Features) ต่าง ๆ ที่ครอบคลุมการใช้งานทั้งหมด รวมถึงทำการวิจัยเพื่อยืนยันระดับความยากง่ายในการใช้งาน (Usability Test) หลังจากที่ระบบดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนการออกแบบโดยพื้นฐานทั้งหมด จึงได้ถูกนำไปพัฒนาต่อเพื่อสร้างระบบออกมาให้ใช้งานได้จริงและถูกนำไปใช้งานจริงตามลำดับ

ในช่วงไตรมาสแรกหลังจากระบบถูกนำมาใช้จริง ได้มีบุคคลากรในบริษัทเข้ามาทดลองใช้งานอยู่บ่อยครั้ง แต่อย่างไรก็ตามนั้นหลังจากได้ผ่านไปซักช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระบบดังกล่าวกลับมีการเข้ามาใช้งานที่น้อยมากจนถึงแทบไม่ถูกใช้งานเลย ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามสำคัญขึ้นว่า นวัตกรรมระบบดังกล่าวที่ถูกออกแบบผ่านกระบวนการออกแบบ และอีกทั้งยังมีการทำวิจัยระดับความยากง่ายในการใช้งาน (Usability Test) แต่ทำไมจำนวนการใช้งานกลับอยู่ในระดับต่ำจนถึงแทบไม่มีการเข้าใช้งานเลย

จากคำถามดังกล่าว หากวิเคราะห์เบื้องต้นจากสถานการณ์ดังกล่าวจะสามารถบ่งบอกและแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

  1. จำนวนผู้เข้าร่วมการวิจัย
  2. ความน่าถือของผลลัพธ์ข้อมูล
  3. รูปแบบและวิธีการทำวิจัย
  4. เป้าหมายของการวิจัย

จำนวนผู้เข้าร่วมการวิจัย

เริ่มต้นจากปัจจัยด้านจำนวนผู้เข้าร่วมการวิจัย เมื่อได้ศึกษาถึงการวิจัยด้านความยากง่ายในการใช้งานระบบ (Usability Test) ที่ได้จัดทำขึ้นก่อนหน้า จึงได้พบว่า มีผู้เข้าร่วมวิจัย (Participant) จำนวนทั้งหมด 5 คนและผ่านการเก็บข้อมูลคุณภาพ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามสำคัญขึ้นว่า จำนวน 5 คนนั้นเพียงพอหรือไม่ หากวิเคราะห์จากขนาดจำนวนผู้ใช้เป้าหมายที่เข้าถึงระบบ (Reach) ที่อาจจะมีจำนวนมาก ดังนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าจำนวนคน 5 คนดังกล่าวสามารถเป็นตัวแทนของจำนวนคนที่จะเข้าถึงระบบทั้งหมดได้ ถึงอย่างไรก็ตามนั้นได้มีแนวคิดหลายมุมมองที่กล่าวว่า การวิจัยด้านความยากง่ายของการใช้งาน (Usability Test) หากวิจัยที่จำนวนคน 5-7 คน จะสามารถครอบคลุมการพบเจอปัญหาด้านความยากง่ายในการใช้งานส่วนใหญ่ได้ แต่หากมองอีกด้านหนึ่งกลับพบว่า แนวคิดดังกล่าวไม่ได้บอกว่าปัญหาที่พบเจอนั้นมีการกระจายตัวของปัญหาอยู่ที่จำนวนเท่าใดจากลุ่มประชากรผู้ใช้เป้าหมายทั้งหมด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าปัญหาด้านความยากง่ายในการใช้งานที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลต่อกลุ่มประชากรมากน้อยเท่าใด รวมไปถึงปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบมากเท่าใด และจะสามารถทราบได้อย่างไรว่าปัญหาด้านความยากง่ายในการใช้งานทั้งหมดมีจำนวนเท่าใด เพราะแนวคิดโดยส่วนมากกลับบอกเพียงแค่ว่า พบปัญหาส่วนมากโดยกล่าวเป็นจำนวนร้อยละ

ดังนี้ การคำนวณจำนวนผู้เข้าร่วมการวิจัยอย่างเหมาะสม จึงเป็นปัจจัยสำคัญเป็นอย่างมาก เช่น หากระบบหนึ่ง ๆ มีขนาดของตลาดอยู่ที่หลักล้านคน จำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยควรเป็นจำนวนเท่าใดจึงเหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนของขนาดตลาดได้ หรือในทางกลับกัน หากการเพิ่มจำนวนประชากรที่เข้าร่วมวิจัย (Participant) นั้นสามารถทำได้ยากและทรัพยากรสูง การปรับเปลี่ยนวิธีการวิจัยเพื่อตรวจสอบข้อมูลผลลัพธ์แทนที่จะเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยก็นับว่าเป็นอีกทางออกหนึ่งในมุมมองที่ต่างออกไป

ความน่าถือของผลลัพธ์ข้อมูล

จากการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น ในปัจจัยที่สองด้านความน่าเชื่อถือของข้อมูล (Solidity of Data) เนื่องจากว่าการวิจัยดังกล่าวได้เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพผ่านจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวนเพียงแค่ 5 คน และได้นำข้อมูลที่ได้รับดังกล่าวมาทำการวิเคราะห์ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพตามลำดับ แต่สืบเนื่องด้วยจากปัญหาจากปัจจัยก่อนหน้าที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวน 5 คน อาจจะไม่ใช้ตัวแทนของจำนวนผู้ใช้เป้าหมายที่เข้าถึงระบบทั้งหมด ด้วยเหตุนี้การศึกษาเพื่อวัดผลความน่าเชื่อถือของมูลจึงเป็นปัจจัยสำคัญ แต่การวิจัยครั้งนี้นั้นกลับไม่ได้ศึกษาด้านความน่าเชื่อถือของข้อมูล จึงอาจจะสามารถส่งผลเชิงลบต่องานวิจัยโดยปัญหาที่เจออาจจะเกิดขึ้นเพียงแค่คนกลุ่มเดียวเท่านั้น หรือกระจายตัวในวงแคบ และปัญหาที่เจออาจจะมีผลกระทบค่อนข้างต่ำ ด้วยเหตุนี้ หากทำการศึกษาวิจัยต่อไปจะสามารถยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้เพื่อที่จะได้จัดเรียงลำดับความสำคัญ ผลกระทบ และกระจายตัวของปัญหาได้ตามลำดับ และวางแผนกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนานวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จเชิงธุรกิจ

รูปแบบและวิธีการทำวิจัย

ปัจจัยในลำดับถัดมา รูปแบบและวิธีการทำวิจัยนับเป็นหัวใจหลักในการทำวิจัย เนื่องจากการเลือกรูปแบบและวิธีการวิจัยที่เหมาะสมจะสามารถให้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ได้เป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากตัวอย่างข้างต้นด้านการวิจัยความยากง่ายในการใช้งานระบบ (Usability Test) การวิจัยดังกล่าวสามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยที่วิธีที่นิยมนำมาใช้เป็นอย่างมากในปัจจุบัน คือ Think-Aloud และการวิจัยข้างต้นก็ได้นำวิธีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้งาน หากวิเคราะห์ถึงวิธีที่นำมาใช้นั้น เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Think-Aloud เป็นวิธีที่นิยมและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมากในการวิจัยด้านความยากง่ายในการใช้งาน (Usability Test) แต่อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้ Think-Aloud นั้นกลับมีปัจจัยความต้องการหลายปัจจัย อาทิ ความชำนาญของผู้วิจัย บริบทของวัฒนธรรมและสถานการณ์ ฯลฯ Think-Aloud เป็นที่สังเกตเห็นได้ชัดว่าวิธีดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ผู้วิจัยที่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน เนื่องจากว่าต้องสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยพูดและอธิบายในสิ่งที่ตนเองคิด ไม่ใช่เพียงแค่พูดว่าใช้ง่ายหรือยาก และนอกจากนี้บริบททางวัฒนธรรมและสถานการณ์ก็มีความสำคัญ เนื่องจากคนบางประเทศในบางบริบทสถานการณ์ต่าง ๆ อาจจะไม่กล้าที่จะพูดผลลัพธ์เชิงลบออกมา เพราะกังวลที่สร้างความไม่สบายใจกับฝั่งตรงข้าม ด้วยเหตุนี้ การเลือกวิธีการทำงานอย่างเหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการทำงานวิจัยด้านการออกแบบนวัตกรรมเชิงธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

เป้าหมายของการวิจัย

ในปัจจัยสุดท้าย เป้าหมายการวิจัยนับเป็นกุญแจหลักสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการทำงานวิจัย หากตั้งเป้าหมายการวิจัยที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ครอบคลุม อาจจะส่งผลอย่างมากต่อผลลัพธ์การวิจัยและการประยุกต์ใช้งานเชิงธุรกิจ ตัวอย่างเช่น หากการวิจัยนวัตกรรมดังกล่าวที่กล่าวมานั้น วัดผลเพียงแค่ความยากง่ายในการใช้งาน (Usability Test) แต่กลับมองข้ามปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ระดับความยากง่ายในการเรียนรู้ ระดับความปรารถนาในการใช้งาน ระดับการรองรับการปฏิสัมพันธ์เชิงสัญชาตญาณ (Intuitive Design) ฯลฯ หากมองถึงเป้าหมายต่าง ๆ นับว่ายังมีอีกหลายจุดที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของนวัตกรรมทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ การกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสมต่อธุรกิจจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก หากเป้าหมายของการวิจัยไม่สอดคล้องกับความสำเร็จของธุรกิจอย่างครอบคลุม การทำวิจัยเพียงแค่ความยากง่ายในการใช้งานเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนความสำเร็จของนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทส่งท้าย

ท้ายสุดนี้ จากบทวิเคราะห์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการเข้าใจปัจจัยดังกล่าวที่กล่าวมาข้างต้น เช่น การกำหนดจำนวนกลุ่มประชากรเข้าร่วมวิจัยอย่างเหมาะสม การคำนวนถึงระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่รับ การเลือกใช้วิธีการวิจัยที่ตรงกับบริบท และการกำหนดเป้าหมายการวิจัยอย่างสอดคล้องและครอบคุลมกับความสำเร็จของธุรกิจ ปัจจัยทั้งหมดนี้จะส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานวิจัยเพื่อให้ผลลัพธ์การวิจัยสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานต่อธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนี้ในบทความถัดไปจะมากล่าวถึงปัจจัยต่าง ๆ แต่ละปัจจัยโดยละเอียด อาทิ ควรกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยเท่าไหร่ถึงเหมาะสม เป้าหมายการวิจัยการออกแบบนวัตกรรมที่ดีความประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ฯลฯ เพื่อสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีประสิทธิภาพ และให้สามารถประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจได้ในบริบทจริง


ติดตามบทความเกี่ยวกับการวิจัยและออกแบบได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/unblockdesign
Instagram : https://www.instagram.com/unblockdesign

Tags:#Product Design #UX Research

Author
Writer: Unblock Design

ทีมออกแบบของ Blockfint ที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจัย วางแผน และออกแบบ Digital Products


สนใจร่วมธุรกิจกับเรา?
Mailbox